เมื่อหลายปีก่อนแอดมินเคยประสบเหตุการณ์ที่ต้องคอยรับโทรศัพท์คนโทร.มาทวงหนี้พนักงาน แต่ด้วยพนักงานคนนั้นต้องออกไปพบลูกค้าไม่ค่อยได้อยู่ประจำสำนักงาน แอดจำเป็นต้องรับเรื่องแทนและส่งต่อพนักงานเสมอ แต่พนักงานนิ่งเฉย แอดถูกเจ้าหน้าที่ทวงหนี้ใส่อารมณ์ พูดจาไม่ดี มีการข่มขู่ สุดท้ายมีจดหมายจากกรมบังคับคดีให้หักเงินเดือนพนักงานเพื่อชำระหนี้ก็มาถึง

แอดคิดว่า HR หลายๆ ท่านกำลังประสบปัญหาเหล่านี้อยู่ และไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี เรื่องนี้มีหลายมุมที่จะต้องจัดการ เพราะเป็นเรื่องที่กระทบต่อพนักงานกับองค์กร หรือตัว HR เองเมื่อต้องประสบเหตุการณ์นี้จะต้องทำอย่างไร

 

ทำความเข้าใจก่อนเรื่องนี้เป็นเรื่องที่กระทบพนักงานและองค์กร เช่น

  • พนักงานคนหนึ่งเคยทำงานดี เป็นพนักงานที่คล่องแคล่ว วันหนึ่งการทำงานเปลี่ยนไปดูร้อนร้น คิดมาก หวาดระแวง แน่นอนว่าพนักงานผู้เป็นหนี้ก็ไม่มีกระจิตกระใจทำงาน ผลงานที่ได้ก็ไม่ดี เจ้านายก็ตำหนิ
  • มีหนี้สินล้นพ้นตัว จนมาถึงขั้นลาออกเพราะต้องหนีหนี้หลบเจ้าหนี้
  • กระทบทางอ้อม เพื่อนร่วมงานที่ต้องแบกรับงานแทน หรือต้องคอยแก้งาน
  • หัวหน้างานก็ไม่ทราบสาเหตุว่าทำไมอยู่ดีๆ ผลงานถึงตกลง งานผิดพลาดเยอะ หรือบางครั้งงานเสร็จไม่ตรงเวลา
  • ฝ่ายบุคคลหรือธุรการที่ต้องคอยรับโทรศัพท์ข่มขู่จากเจ้าหนี้ที่โทร.มาบ่อยครั้ง รบกวนการทำงาน บางครั้งถึงกับมีการแสดงอารมณ์ตอบโต้รุนแรง
  • มีบางเหตุการณ์ที่เจ้าหนี้มาดักพนักงานหน้าบริษัท อันนี้ก็น่ากลัวไปอีก

เหตุการณ์อย่างนี้มีมากๆ เข้าก็ไม่ไหว ไม่เป็นอันทำงานกัน แล้วจะให้เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับ HR ได้อย่างไร

 

ต้องทำอย่างไรมาแก้ที่ละประเด็น คงต้องทำความเข้าใจบางคนเป็นหนี้มาจากเหตุจำเป็น บางคนเป็นหนี้จากความไม่รู้ ความผิดพลาด แต่เป็นหนี้ก็ต้องใช้หนี้ มาเข้าเรื่องที่ควรดำเนินการก่อน 

เมื่อรู้ว่าพนักงานมีหนี้สิน มีหมายบังคับคดี เลิกจ้างได้หรือไม่ (คำถามนี้พบบ่อย)

ตอบ ไม่ถือว่าเป็นความผิด เลิกจ้างไม่ได้ เพราะไม่ได้กระทำผิดระเบียบบริษัท 

  • แต่ถ้าพนักงานมีประสิทธิภาพการทำงานลดน้อยลง ทำงานผิดพลาด สามารถลงโทษได้ตามความผิดกรณีนั้นๆ 
  • อีกกรณี หากพนักงานทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเงินหรือทรัพย์สินบริษัทอาจต้องปรับเปลี่ยนหน้าที่รับผิดชอบตามความเหมาะสม (ภายใต้กฎหมายกำหนด)

การดำเนินการหักเงินเดือนพนักงาน เพื่อชำระหนี้

เมื่อ HR ได้รับหมายบังคับคดี (อะไรก็ HR จริงจริ๊ง) ต้องดู 3 กรณี

 

กรณีที่ 1 พนักงานพ้นสภาพลาออกไปแล้ว HR ออกหนังสือชี้แจงต่อกรมบังคับคดี ประมาณนี้ค่ะ

อ้างอิงหนังสือ…..จากกรมบังคับคดี เมื่อวันที่….. ถึงบริษัท…….. ขอชี้แจงว่านาย/นาง/นางสาว…..ได้พ้นสภาพพนักงาน โดยลาออกไปตั้งแต่เมื่อวันที่……. 

 

กรณีที่ 2 พนักงานเงินเดือนไม่ถึง 20,000 บาท ไม่สามารหักเงินเดือนตามการบังคับคดีได้ HR ออกหนังสือชี้แจงต่อกรมบังคับคดี เช่นเดียวกัน

อ้างอิงหนังสือจาก…….ฉบับที่…..เลขที่….เมื่อวันที่…..ถึงบริษัท…..โดยมีคำสั่งให้ทางบริษัทฯ หักเงินเดือนพนักงานนาย/นาง/นางสาว….. ขอชี้แจงว่าพนักงานมีเงินเดือนบวกรายได้อื่นๆ ไม่ถึง 20,000 บาท จึงขอชี้แจงมา ณ ที่นี้

หมายเหตุ หากพนักงานมีเงินโบนัสจะต้องถูกหักคิดเป็น 50% ของโบนัสที่พนักงานจะได้รับ

หากพนักงานมีค่าล่วงเวลา, เบี้ยขยัน, ค่าคอมมิชชั่น หรือเงินตอบแทนอื่นๆ จะถูกหัก 30% ของเงินที่จะได้รับ

 

กรณีที่ 3 พนักงานเงินเดือนเกิน 20,000 บาท หนังสืออายัดจากบังคับคดีจะใช้คำว่า “อายัดเงินเดือนโดยเหลือให้ลูกหนี้เดือนละ 20,000 บาท หมายความว่า หากพนักงานมีเงินเดือน 50,000 บาท จะต้องถูกหักไป 30,000 บาท และเหลือให้ใช้ 20,000 บาท (โอ้แม่เจ้า…เนื่องจากกฎหมายกำหนดเพียงเงินเดือนไม่เกิน 20,000 บาท ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี แต่ไม่ได้บอกว่าถ้าเงินเดือนเกิน 20,000 บาท จะหักอย่างไรเท่าไหร่) ควรแนะนำให้พนักงานผู้เป็นหนี้เจรจาต่อรองกับเจ้าหน้าที่บังคับคดี เพื่อขอลดเงินอายัดอย่างด่วนนับแต่วันได้รับหนังสือ

ทั้งนี้ ทางฝ่ายนายจ้างหรือ HR (ถือเป็นตัวแทนนายจ้าง) จะต้องช่วยดำเนินการหักเงินเดือนพนักงานไปจนกว่าจะครบหนี้และมีหมายถอนอายัดมาจากทางกรมบังคับคดีจึงถือเป็นที่สิ้นสุด

 

เรื่องราวซับซ้อนมากมาย อะไรก็ HR จริงๆ แต่เรื่องหนี้สินของพนักงานยังไม่หมดแค่นี้นะคะ HR ยังต้องมีอะไรทำอีกเยอะ เช่น เจอพวกข่มขู่จะทำอย่างไร ทำอย่างไรให้พนักงานสามารถใช้หนี้ได้ ทำอย่างไรให้ไม่เป็นหนี้จะดีกว่า เรื่องราวมากมายพบกันครั้งหน้าค่ะ 

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Thanulaw.com เรื่องการอายัดเงิน ตามกฎหมายใหม่ (พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ฉบับที่ 30 พ.ศ.2560)

Comments are closed.