ความรู้เบื้องต้นสำหรับ HR มือใหม่ เมื่อบริษัทจำเป็นต้องจ้างแรงงานต่างด้าว

คำศัพท์ที่เกี่ยวข้อง

“คนต่างด้าว” หมายถึง  บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย

“ทำงาน” หมายถึง  การทำงานโดยใช้กำลังกายหรือความรู้ โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าจ้าง

“ใบอนุญาต” หมายถึง  ใบอนุญาตทำงาน

“ผู้รับใบอนุญาต” หมายถึง  คนต่างด้าวซึ่งได้รับใบอนุญาต

“ลูกจ้าง” หมายถึง ผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา 9 มาตรา 11 มาตรา 13 (1) และ (2)  และมาตรา 14 ให้ทำงานที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา 15 (เป็นลูกจ้างที่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อเป็นประกันค่าใช้จ่ายในการส่งลูกจ้างกลับออกไปนอกราชอาณาจักร

ความหมายของคนต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาตตามมาตราต่างๆ ได้แก่

คนต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาต ตามมาตรา 9  แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้

  • ประเภททั่วไป หมายถึง คนต่างด้าวที่เป็นแรงงานที่ใช้ทักษะ ความชำนาญเฉพาะด้าน หรือมีความสามารถทางการสื่อสาร(ภาษา) ที่ยังหาคนไทยที่มีความสามารถไม่ได้ หรือเป็นการเข้ามาทำงานในกิจการที่ตนเองลงทุน  หรือกิจการของคู่สมรส หรือกิจการที่ร่วมลงทุน
  • ประเภทตลอดชีพ หมายถึง คนต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาตทำงานตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 322 มีสาระสำคัญว่า ใบอนุญาตที่ออกให้แก่คนต่างด้าวซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองและทำงานอยู่แล้วก่อนวันที่ 13 ธันวาคม 2515  ให้ใช้ตลอดชีวิตของคนต่างด้าวเว้นแต่คนต่างด้าวจะเปลี่ยนอาชีพใหม่
  • ประเภทแจ้งการทำงาน หมายถึง  คนต่างด้าวซึ่งเข้ามาเพื่อทำงานอันจำเป็นและเร่งด่วนที่มีระยะเวลาทำงานไม่เกิน 15 วันและจะทำงานนั้นได้เมื่อได้มีหนังสือแจ้งให้นายทะเบียนทราบ
  • ประเภทพิสูจน์สัญชาติ หมายถึง  แรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา อนุญาตให้ทำงานได้ 2 งานคือ งานกรรมกรและคนรับใช้ในบ้าน (ประเภทนี้ใบอนุญาตทำงานชนิดบัตรชมพู)

คนต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาต ตามมาตรา 11  แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

  • ประเภททั่วไป หมายถึง คนต่างด้าวที่เป็นแรงงานที่ใช้ทักษะ ความชำนาญเฉพาะด้าน หรือมีความสามารถทางการสื่อสาร (ภาษา) ที่ยังหาคนไทยที่มีความสามารถไม่ได้ เมื่อเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรแล้วต้องดำเนินการยื่นขอใบอนุญาตทำงานภาย 30 วัน
  • ประเภทนำเข้า หมายถึง แรงงานต่างด้าวว่าด้วยการจ้างแรงงานต่างด้าวระหว่างประเทศไทยกับประเทศคู่ภาคี (MOU) โดยขออนุญาตทำงานได้ 2 งาน คือ งานกรรมกรและคนรับใช้ในบ้าน

คนต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาต ตามมาตรา 13 (1) และ (2)  หมายถึง คนต่างด้าวซึ่งไม่อาจขอรับใบอนุญาตตามมาตรา 9 เพราะอาจขอรับใบอนุญาตต่อนายทะเบียนเพื่อทำงานตามประเภทที่คณะรัฐมนตรีกำหนด โดยคำนึงถึงความมั่นคงของชาติและผลกระทบต่อสังคม

คนต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาต ตามมาตรา 14  หมายถึง  คนต่างด้าวที่มีภูมิลำเนาและเป็นคนสัญชาติของประเทศที่มีชายแดนติดกับประเทศไทย ถ้าได้เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมีเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง อาจได้รับอนุญาตให้ทำงานบางประเภทหรือลักษณะงานในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวในช่วงระยะเวลาหรือตามฤดูกาลที่กำหนดได้

คนต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาต ตามมาตรา 12 หมายถึง คนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามกฎหมายพิเศษ ได้แก่  กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน

คนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักร แล้วประสงค์จะทำงานต้องปฏิบัติ   ดังนี้

  1. คนต่างด้าวที่จะขออนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนหรือการนิคมอุตสาหกรรมต้องยื่น

ขอรับใบอนุญาตทำงาน ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่เข้ามาในราชอาณาจักรหรือ 30 วันนับแต่วันที่ทราบการได้รับอนุญาตให้ทำงานตามกฎหมายนั้นๆ

  1. คนต่างด้าวไม่ว่าจะมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรหรือคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรประเภทคนอยู่ชั่วคราวจะ

ได้ทำงานต่อเมื่อได้รับใบอนุญาตแล้วเท่านั้น โดยยื่นขอรับใบอนุญาตทำงานตามแบบที่กฎหมายกำหนด

คุณสมบัติของคนต่างด้าวที่จะขอใบอนุญาต ได้แก่

  1. มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรหรือได้รับใบอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง (NON-IMMIGRANT) โดยไม่ใช่ในฐานะนักท่องเที่ยว (Tourist) หรือผู้เดินทางผ่าน (TRANSIT)
  2. มีความรู้ความสามารถในการทำงานตามที่ขอรับใบอนุญาตทำงาน
  3. ต้องไม่เป็นคนวิกลจริตหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
  4. ต้องไม่เป็นผู้เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อน วัณโรคในระยะอันตราย โรคเท้าช้างในระยะปรากฏอาการอันเป็นที่รังเกียจแก่สังคม โรคติดยาเสพติดให้โทษอย่างร้ายแรง หรือโรคพิษสุราเรื้อรัง
  5. ต้องไม่เคยต้องโทษจำคุกในความผิดตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง หรือกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าวภายในระยะเวลาหนึ่งปีก่อนวันเข้าขอรับอนุญาต

คนต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทำงานแล้ว ต้องปฎิบัติดังนี้

  • มีใบอนุญาตติดตัวไว้หรือมีอยู่ ณ ที่ทำงานในระหว่างทำงานเพื่อแสดงต่อเจ้าหน้าที่ได้ตลอดเวลา (ผู้มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท)
  • ทำงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาตทำงาน (มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีปรับตั้งแต่ 2,000-100,0001 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
  • ต้องทำงานตามที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น หากประสงค์จะทำงานอื่นหรือเปลี่ยนท้องที่หรือสถานที่ในการทำงาน ต้องได้รับอนุญาตก่อน (ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท)
  • ก่อนใบอนุญาตทำงานสิ้นอายุ และประสงค์จะทำงานต่อต้องยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตก่อนจึงจะทำงานได้
  • กรณีใบอนุญาตชำรุดหรือสูญหาย ต้องยื่นขอใบแทนใบอนุญาตภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ทราบ
  • กรณีเปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุล สัญชาติ ที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว หรือชื่อสถานที่ทำงานต้องยื่นคำร้องแก้ไข

การกำหนดวันลาองค์กรโดยส่วนใหญ่จะอ้างอิงกฎหมายแรงงานเป็นหลักพื้นฐานและเพิ่มเติมยืดหยุ่นตามรูปแบบธุรกิจ การลาถือเป็นสวัสดิการประเภทหนึ่งที่ใช้เป็นผลตอบแทนพนักงาน หรือ ดึงดูดผู้สมัครเข้ามาร่วมงานกับองค์กร

 

หลักการกำหนดวันลาในระเบียบบริษัท มีแนวทางดังนี้

  1. จำเป็นต้องยึดตามกฎหมายแรงงานเป็นหลัก
  2. ให้มากกว่าได้แต่ให้น้อยกว่ากฎหมายกำหนดไม่ได้
  3. ปรับตามความเหมาะสมกับธุรกิจ
  4. อาจจะใช้ระเบียบจากธุรกิจใกล้เคียงกันมาเป็นแนวทาง

 

ประเภทวันลาสิทธิตามกฎหมายแรงงาน

ลำดับ ประเภทวันลา เงื่อนไข เพิ่มเติม
1 วันหยุดประจำสัปดาห์ สัปดาห์ละ 1 วัน ระยะห่างกันไม่เกิน 6 วัน – กำหนดให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์วันใดก็ได้

– กรณีวันหยุดประจำสัปดาห์ ไม่แน่นอน นายจ้างต้องประกาศวันหยุดให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 วัน และแจ้งเป็นหนังสือให้แรงงานทราบภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ประกาศกำหนด

2 วันหยุดตามประเพณี ต้องไม่น้อยกว่าปีละ 13 วัน และ 1 ใน 13 วันที่ทุกบริษัทต้องมีคือ “วันแรงงานแห่งชาติ”
3 วันหยุดพักผ่อนประจำปี ไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน เมื่ออายุงานครบ 1 ปี – หากไม่ครบ 1 ปีสามารถให้ตามสัดส่วนได้ (ข้อตกลงระหว่างนายจ้าง)

– สามารถสะสมโดยยกยอดไปใช้ในปีถัดไปได้    (ข้อตกลงระหว่างนายจ้าง)

4 วันลาป่วย โดยถ้อยคำในกฎหมายใช้คำว่า “ลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง” – ลาป่วยเกินกว่า 3 วัน นายจ้างมีสิทธิเรียกดูใบรับรองแพทย์ได้

– บางบริษัทระบุสิทธิการลาป่วยได้ 30 วันต่อปี (ข้อตกลงระหว่างนายจ้าง)

5 การลาคลอด สิทธิลาคลอดก่อนและหลังคลอดครรภ์หนึ่งไม่เกิน 90 วัน ได้รับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 45 วัน
6 การลาเพื่อทำหมัน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ “การลาเพื่อทำหมัน” กับ “การลาเนื่องจากการทำหมัน” ในกฎหมายไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่แน่นอน แต่จำนวนวันลาต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์
7 การลาเพื่อรับราชการ ลาได้รับค่าจ้าง 60 วันต่อปี  รับราชการในการเรียกพล เพื่อตรวจสอบ เพื่อฝึกวิชาทหาร หรือเพื่อทดสอบความพร้อม
8 วันลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็น กฎหมายใหม่ กำหนดให้มีสิทธิลาได้ โดยได้รับค่าจ้างอย่างน้อย 3 วันทำงานต่อปี
9 การลาเพื่อฝึกอบรม ลูกจ้างมีสิทธิ์ลาเพื่อการฝึกอบรม หรือพัฒนาความรู้ความสามารถตามหลักเกณฑ์ อาจกำหนดให้มีการแจ้งนายจ้างล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน

 

อ้างอิง : พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และฉบับใหม่ 2562

นอกจากกฎหมายแรงงานจะกำหนดให้นายจ้างจัดทำข้อบังคับการทำงานแล้ว ยังมีข้อกำหนดให้นายจ้างจัดทำทะเบียนลูกจ้างและจัดทำเอกสารเกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้าง โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้

ทะเบียนลูกจ้าง

นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่สิบคนขึ้นไปจัดทำทะเบียนลูกจ้างเป็นภาษาไทย และเก็บไว้ ณ สถานประกอบการหรือสำนักงานของนายจ้าง  พร้อมที่จะให้พนักงานแรงงานตรวจได้ในเวลาทำการ และนายจ้างต้องจัดทำภายใน 15 วันนับแต่วันที่ลูกจ้างเข้าทำงาน  โดยในทะเบียนลูกจ้างอย่างน้อยจะต้องมีรายการดังต่อไปนี้

  • ชื่อและนามสกุล
  • เพศ
  • สัญชาติ
  • วันเดือนปีเกิด หรืออายุ
  • ที่อยู่ปัจจุบัน
  • วันที่เริ่มจ้างงาน
  • ตำแหน่งหรืองานในหน้าที่
  • อัตราค่าจ้างและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่นายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง
  • วันสิ้นสุดของการจ้าง

และหากมีการเปลี่ยนแปลงรายการในทะเบียนลูกจ้าง นายจ้างต้องแก้ไขเพิ่มเติมภายใน 15 วันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลงหรือภายใน 15 วันนับแต่วันที่ลูกจ้างได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงให้นายจ้างทราบ

เอกสารเกี่ยวกับการค่าจ้าง  ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด

นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่สิบคนขึ้นไปต้องมีเอกสารเกี่ยวกับการค่าจ้าง  ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด ซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้

  • วันและเวลาทำงาน
  • ผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
  • อัตราและจำนวนค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดที่ลูกจ้างแต่ละคนได้รับ

และเมื่อมีการจ่ายดังรายการข้างต้นไม่ว่ารายการใดต้องจัดให้ลูกจ้างลงลายมือชื่อในเอกสารไว้เพื่อเป็นหลักฐานโดยรายการในเอกสารจะอยู่ในฉบับเดียวกันหรือแยกหลายฉบับก็ได้ ในกรณีที่นายจ้างจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด  และค่าล่วงเวลาในวันหยุดผ่านบัญชีธนาคารให้ถือว่าหลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของลูกจ้างเป็นเอกสารที่เกี่ยวกับการจ่ายเงินดังกล่าว

อายุการจัดเก็บเอกสาร:  กฎหมายกำหนดให้นายจ้างเก็บรักษาทะเบียนลูกจ้างและเก็บเอกสารการจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา  ค่าทำงานในวันหยุด  และค่าล่วงเวลาในวันหยุดไว้อย่างน้อย 2 ปีนับแต่วันสิ้นสุดของการจ้างลูกจ้างแต่ละราย และในกรณีที่มีการยื่นคำร้องหรือมีข้อพิพาทแรงงานตามกฎหมายหรือมีการฟ้องร้องคดีแรงงาน ให้นายจ้างเก็บรักษาทะเบียนลูกจ้างไว้จนกว่าจะมีคำสั่งพิพากษาถึงที่สุดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

การจ้างงานประจำ คือการทำสัญญาจ้างโดยตรงจากนายจ้าง มีข้อกำหนดและมีค่าตอบแทนระบุชัดเจน แต่ไม่มีการระบุระยะเวลาสิ้นสุด เช่น พนักงานประจำ / ลูกจ้างประจำ

 

การจ้างงานแบบไม่ประจำ คือ การทำสัญญาจ้างโดยตรงจากนายจ้าง มีข้อกำหนดและมีค่าตอบแทนระบุชัดเจน ตามข้อตกลงกับนายจ้างนั้นๆ แต่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดไว้อย่างชัดเจน หรือการทำสัญญาจ้างแบบมีกำหนดเวลา เช่น พนักงานชั่วคราว พนักสัญญาจ้าง พนักงานพาร์ทไทม์ เป็นต้น

ปัจจัยที่ทำให้หน่วยงานสรรหาว่าจ้างต้องรีบปรับตัว เพื่อหาคนมาร่วมงานกับองค์กรได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ1

 

อธิบายรายละเอียดการจ้างงานแต่ละแบบ และการเชื่อมโยงยุทธวิธีหาคนทำงาน

การจ้างงานแบบสัญญาจ้างชั่วคราว

– มีระยะเวลาที่จ้างแน่นอน เช่น 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี เป็นต้น

– การจ้างงานลักษณะนี้ พนักงานชั่วคราวได้สิทธิ์เหมือนพนักงานประจำ

– การจ่ายค่าตอบแทนในรูปแบบเงินเดือน 

– ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น ค่าจ้างขั้นต่ำ เวลาพัก เวลาทำงาน ค่าทำงานในวันหยุดประจำปีบริษัท ค่าทำงานล่วงเวลา วันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดพักผ่อนประจำปี สิทธิการลาป่วย พนักงานมีสิทธิได้รับเท่าเทียมกันตามที่กฎหมายกำหนด

การจ้างแบบสัญญาจ้างชั่วคราว ยกตัวอย่างเช่น…..

  • งานโครงการ (Project) เช่น แผนงานวางโครงการสื่อสารองค์กรไว้ 1 ปี แต่กำลังคนด้านกราฟิคที่ต้องการใช้ไม่เพียงพอ
  • งาน Event ที่กำลังจะจัด 3 เดือน 6 เดือน ต้องการกำลังมาเสริม
  • หรือมีพนักงานที่กำลังลาคลอด แต่ทางแผนกต้องการกำลังคน HR ก็สามารถเตรียมหากำลังสำรองเป็นสัญญาจ้างไวั 3 – 4 เดือน เพื่อช่วยสนับสนุนงาน

กรณี 

  1. เมื่อครบอายุสัญญาหากบริษัทไม่มีงานต่อก็จบงานตามสัญญา 
  2. กรณีต้องการต่อสัญญา บริษัทและพนักงานตกลงเห็นตรงกันก็ต่อสัญญาหรือจัดทำสัญญาระบุอายุสัญญาใหม่
  3. กรณีเลิกจ้างหากยังไม่ครบกำหนดตามสัญญา บริษัทต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับพนักงานตามกฎหมายแรงงานระบุไว้ หรือก็จ่ายค่าจ้างครบตามอายุสัญญา  

 

การจ้างงานแบบ Part-time

ลักษณะเดียวกับสัญญาจ้างชั่วคราว แต่งาน Part-time เหมาะกับการทำงานเป็นกะ เป็นรายชั่วโมง หรือทำงานเป็นโครงการระยะสั้น 5 วัน 10 วัน 20 วัน เป็นต้น 

– เป็นการจ้างมาช่วยพนักงานประจำ 

– ค่าตอบแทนอาจคิดเป็นชั่วโมง หรือเป็นวัน เช่นชั่วโมงละ 70 บาท วันละ 500 บาท เป็นต้น

– หรือจ้าง 3 วันต่อสัปดาห์ (ในกลุ่มนักศึกษาปี 4 ที่กำลังจบมีวันว่างต่อสัปดาห์เยอะ)

การจ้างงานแบบ Part-time ยกตัวอย่างเช่น….

  • ต้องการพนักงานมาทำสำรวจตลาดจำนวน 15 วัน วันละ 500 บาท
  • ต้องการพนักงานมาช่วยดูแลลูกค้าเฉพาะวันเสาร์ – อาทิตย์
  • ต้องการพนักงานมาคีย์ข้อมูลอาทิตย์ละ 3 วัน 
  • ต้องการพนักงานมาช่วยที่ร้านอาหารในช่วงเวลาเย็นตั้งแต่ 17.00 – 20.00 น. เพราะช่วงนั้นลูกค้าเยอะ

กรณี

  1. จ่ายค่าจ้างเมื่อเสร็จงาน 
  2. จ่ายค่าจ้างตามรอบที่กำหนด เช่น ทุกวันที่ 15 และทุกสิ้นเดือน โดยโอนเข้าบัญชี

 

การจ้างงานแบบรายวันหรือรายชั่วโมง

– ได้รับค่าตอบแทนในวันที่งาน คิดเป็นวัน หรือ จำนวนชั่วโมงที่ทำ

– ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายกำหนด

การจ้างงานแบบรายวันหรือรายชั่วโมง ยกตัวอย่างเช่น…..

  • มีความยืดหยุ่นเรื่องของเวลาทำงาน เช่น งานพนักงานขาย หรือบริการลูกค้า ตามสาขาในห้างฯ หรืองานอีเวนท์ต่างๆ ที่มีช่วยช่วง 1 – 2 สัปดาห์ เป็นต้น
  • แนวโน้มใหม่ๆ เช่น การจ้างผู้สูงอายุ หรือผู้เกษียณอายุ เพื่อมาช่วยสนับสนุนการทำงานเป็นการเตรียมรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ 

 

การจ้างแบบรับเหมา

– เป็นการรับเหมางานเป็นชิ้นงาน รับจ้างทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งตั้งแต่ต้นจนจบ 

– ค่าตอบแทนตามตกลงจากผลงาน ปริมาณงานที่สำเร็จ หรือตามสัดส่วน เป็นต้น

การจ้างงานแบบรับเหมา ยกตัวอย่างเช่น…

  • งานออกแบบระบบสำเร็จรูป เพื่อสนันสนุนงานเฉพาะภายในองค์กร เป็นระบบย่อย ไม่ต้องเสียงบประมาณซื้อระบบใหญ่ที่เสี่ยงต่อค่าใช้จ่ายสูง 
  • งานจ้างเหมาออกแบบหน้า Web Application

 

สรุป

การจ้างงานแบบหลากหลายจะช่วยให้ HR มีโซลูชั่นในการช่วยหาคนมาทำงานได้ตรงตามความต้องการมากขึ้น ไม่ต้องเสียเวลา ไม่เสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ ยกตัวอย่างที่แอดเคยหาคนมาช่วยงาน ดังนี้

– หาคนมาทำงานช่วงระหว่างพนักงานฝ่ายบัญชีลาคลอด ก็ลองหาพนักงานสัญญาจ้าง 4 เดือน มาเรียนรู้งาน และช่วยงานฝ่ายฯ ตลอดระยะเวลาพนักงานลาคลอด

– นักศึกษาฝึกงานก็เป็นโซลูชั่นหนึ่งที่ช่วยเสริมกำลังคน เช่น นักศึกษาฝึกงานด้านไฟฟ้ามาควบคุมตรวจงานระบบไฟในงานคอนเสิร์ต

– การหากำลังเสริมมาช่วยในช่วงเวลาเร่งด่วน หรือฤดูกาลที่ขายสินค้าได้ดี เช่น จ้างพนักงาน part time มาช่วยงานในวันเสาร์และอาทิตย์ 

– หรือแม้แต่การจ้างพนักงานในองค์กรทำงานเสริม เช่น บริษัทต้องการ call center (hotline) รับโทร.ช่วงเวลา 18.00 – 20.00 น. ตั้งแต่วันที่ 1 – 30 พฤศจิกายน หลังจากประกาศออกไปก็ได้รับผลตอบรับอย่างดี ช่วงถ่วงเวลาให้เราหาคนมาฟอร์มทีมตามกำหนดการ

– หรือแม้แต่บางองค์กรสมัยนี้มีการจ้างผู้เกษียณอายุมาทำงานช่วงเวลาสั้นๆ วันละ 4 – 6 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 3 – 4 วันก็เพิ่มกำลังคนได้เป็นอย่างดี 

– หรือจ้างคณะอาจารย์และนักศึกษารับงานโครงการไปออกแบบให้ผลงานออกมาก็จ่ายตามชิ้นงาน การออกแบบระบบโปรแกรมสำเร็จใช้ในองค์กร

 

แต่การเพิ่มโซลูชั่นการจ้างงานที่หลากหลายก็ต้องมีวิธีการตรวจสอบ วัดผลงานที่ชัดเจนว่าคุ้มค่าตอบแทนหรือไม่ รวบถึงการจ่ายค่าตอบแทนที่ถูกต้องแม่นยำด้วย การหาโปรแกรมสำเร็จรูปมาช่วยควรมีความยืดหยุ่นให้สอดคล้องรองรับกับรูปแบบการจ้างงานในปัจจุบัน อย่างเช่น โปรแกรมเงินเดือน EZY-HR ที่สามารถคำนวณค่าตอบแทนพนักงานรายวันและรายชั่วโมงได้ด้วย https://support.ezy-hr.com/วิธีเพิ่มพนักงานรายวัน/

เมื่อหลายปีก่อนแอดมินเคยประสบเหตุการณ์ที่ต้องคอยรับโทรศัพท์คนโทร.มาทวงหนี้พนักงาน แต่ด้วยพนักงานคนนั้นต้องออกไปพบลูกค้าไม่ค่อยได้อยู่ประจำสำนักงาน แอดจำเป็นต้องรับเรื่องแทนและส่งต่อพนักงานเสมอ แต่พนักงานนิ่งเฉย แอดถูกเจ้าหน้าที่ทวงหนี้ใส่อารมณ์ พูดจาไม่ดี มีการข่มขู่ สุดท้ายมีจดหมายจากกรมบังคับคดีให้หักเงินเดือนพนักงานเพื่อชำระหนี้ก็มาถึง

แอดคิดว่า HR หลายๆ ท่านกำลังประสบปัญหาเหล่านี้อยู่ และไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี เรื่องนี้มีหลายมุมที่จะต้องจัดการ เพราะเป็นเรื่องที่กระทบต่อพนักงานกับองค์กร หรือตัว HR เองเมื่อต้องประสบเหตุการณ์นี้จะต้องทำอย่างไร

 

ทำความเข้าใจก่อนเรื่องนี้เป็นเรื่องที่กระทบพนักงานและองค์กร เช่น

  • พนักงานคนหนึ่งเคยทำงานดี เป็นพนักงานที่คล่องแคล่ว วันหนึ่งการทำงานเปลี่ยนไปดูร้อนร้น คิดมาก หวาดระแวง แน่นอนว่าพนักงานผู้เป็นหนี้ก็ไม่มีกระจิตกระใจทำงาน ผลงานที่ได้ก็ไม่ดี เจ้านายก็ตำหนิ
  • มีหนี้สินล้นพ้นตัว จนมาถึงขั้นลาออกเพราะต้องหนีหนี้หลบเจ้าหนี้
  • กระทบทางอ้อม เพื่อนร่วมงานที่ต้องแบกรับงานแทน หรือต้องคอยแก้งาน
  • หัวหน้างานก็ไม่ทราบสาเหตุว่าทำไมอยู่ดีๆ ผลงานถึงตกลง งานผิดพลาดเยอะ หรือบางครั้งงานเสร็จไม่ตรงเวลา
  • ฝ่ายบุคคลหรือธุรการที่ต้องคอยรับโทรศัพท์ข่มขู่จากเจ้าหนี้ที่โทร.มาบ่อยครั้ง รบกวนการทำงาน บางครั้งถึงกับมีการแสดงอารมณ์ตอบโต้รุนแรง
  • มีบางเหตุการณ์ที่เจ้าหนี้มาดักพนักงานหน้าบริษัท อันนี้ก็น่ากลัวไปอีก

เหตุการณ์อย่างนี้มีมากๆ เข้าก็ไม่ไหว ไม่เป็นอันทำงานกัน แล้วจะให้เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับ HR ได้อย่างไร

 

ต้องทำอย่างไรมาแก้ที่ละประเด็น คงต้องทำความเข้าใจบางคนเป็นหนี้มาจากเหตุจำเป็น บางคนเป็นหนี้จากความไม่รู้ ความผิดพลาด แต่เป็นหนี้ก็ต้องใช้หนี้ มาเข้าเรื่องที่ควรดำเนินการก่อน 

เมื่อรู้ว่าพนักงานมีหนี้สิน มีหมายบังคับคดี เลิกจ้างได้หรือไม่ (คำถามนี้พบบ่อย)

ตอบ ไม่ถือว่าเป็นความผิด เลิกจ้างไม่ได้ เพราะไม่ได้กระทำผิดระเบียบบริษัท 

  • แต่ถ้าพนักงานมีประสิทธิภาพการทำงานลดน้อยลง ทำงานผิดพลาด สามารถลงโทษได้ตามความผิดกรณีนั้นๆ 
  • อีกกรณี หากพนักงานทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเงินหรือทรัพย์สินบริษัทอาจต้องปรับเปลี่ยนหน้าที่รับผิดชอบตามความเหมาะสม (ภายใต้กฎหมายกำหนด)

การดำเนินการหักเงินเดือนพนักงาน เพื่อชำระหนี้

เมื่อ HR ได้รับหมายบังคับคดี (อะไรก็ HR จริงจริ๊ง) ต้องดู 3 กรณี

 

กรณีที่ 1 พนักงานพ้นสภาพลาออกไปแล้ว HR ออกหนังสือชี้แจงต่อกรมบังคับคดี ประมาณนี้ค่ะ

อ้างอิงหนังสือ…..จากกรมบังคับคดี เมื่อวันที่….. ถึงบริษัท…….. ขอชี้แจงว่านาย/นาง/นางสาว…..ได้พ้นสภาพพนักงาน โดยลาออกไปตั้งแต่เมื่อวันที่……. 

 

กรณีที่ 2 พนักงานเงินเดือนไม่ถึง 20,000 บาท ไม่สามารหักเงินเดือนตามการบังคับคดีได้ HR ออกหนังสือชี้แจงต่อกรมบังคับคดี เช่นเดียวกัน

อ้างอิงหนังสือจาก…….ฉบับที่…..เลขที่….เมื่อวันที่…..ถึงบริษัท…..โดยมีคำสั่งให้ทางบริษัทฯ หักเงินเดือนพนักงานนาย/นาง/นางสาว….. ขอชี้แจงว่าพนักงานมีเงินเดือนบวกรายได้อื่นๆ ไม่ถึง 20,000 บาท จึงขอชี้แจงมา ณ ที่นี้

หมายเหตุ หากพนักงานมีเงินโบนัสจะต้องถูกหักคิดเป็น 50% ของโบนัสที่พนักงานจะได้รับ

หากพนักงานมีค่าล่วงเวลา, เบี้ยขยัน, ค่าคอมมิชชั่น หรือเงินตอบแทนอื่นๆ จะถูกหัก 30% ของเงินที่จะได้รับ

 

กรณีที่ 3 พนักงานเงินเดือนเกิน 20,000 บาท หนังสืออายัดจากบังคับคดีจะใช้คำว่า “อายัดเงินเดือนโดยเหลือให้ลูกหนี้เดือนละ 20,000 บาท หมายความว่า หากพนักงานมีเงินเดือน 50,000 บาท จะต้องถูกหักไป 30,000 บาท และเหลือให้ใช้ 20,000 บาท (โอ้แม่เจ้า…เนื่องจากกฎหมายกำหนดเพียงเงินเดือนไม่เกิน 20,000 บาท ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี แต่ไม่ได้บอกว่าถ้าเงินเดือนเกิน 20,000 บาท จะหักอย่างไรเท่าไหร่) ควรแนะนำให้พนักงานผู้เป็นหนี้เจรจาต่อรองกับเจ้าหน้าที่บังคับคดี เพื่อขอลดเงินอายัดอย่างด่วนนับแต่วันได้รับหนังสือ

ทั้งนี้ ทางฝ่ายนายจ้างหรือ HR (ถือเป็นตัวแทนนายจ้าง) จะต้องช่วยดำเนินการหักเงินเดือนพนักงานไปจนกว่าจะครบหนี้และมีหมายถอนอายัดมาจากทางกรมบังคับคดีจึงถือเป็นที่สิ้นสุด

 

เรื่องราวซับซ้อนมากมาย อะไรก็ HR จริงๆ แต่เรื่องหนี้สินของพนักงานยังไม่หมดแค่นี้นะคะ HR ยังต้องมีอะไรทำอีกเยอะ เช่น เจอพวกข่มขู่จะทำอย่างไร ทำอย่างไรให้พนักงานสามารถใช้หนี้ได้ ทำอย่างไรให้ไม่เป็นหนี้จะดีกว่า เรื่องราวมากมายพบกันครั้งหน้าค่ะ 

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Thanulaw.com เรื่องการอายัดเงิน ตามกฎหมายใหม่ (พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ฉบับที่ 30 พ.ศ.2560)

I look my best when I'm totally free, on holiday, walking on the beach.

เมื่ออาทิตย์ที่แล้วมีโอกาสได้ไปเดินงานมหกรรมหนังสือที่เมืองทองธานี ได้หนังสือดีๆ มาหลายเล่ม หนึ่งในนั้นคือ หนังสือปรัชญาการทำงาน และการดำเนินชีวิตของ ดร.เทียม โชควัฒนา ผู้ก่อตั้งและวางรากฐานกิจการในเครือสหพัฒน์

 

“ความรู้เหมือนดาบยิ่งใช้ยิ่งคม”

ผู้ใดมีความรู้และนำเอาความรู้ของตนมาใช้และถ่ายทอดให้ผู้อื่น

ผู้นั้นจะยิ่งเกิดความชำนาญและเป็นการเพิ่มคุณค่าแห่งความรู้นั้นด้วย

เปรียบเสมือนดาบที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ และได้รับการเอาใจใส่ดูแล

ให้คงไว้ซึ่งความคม…ตลอดเวลา

 

เมื่อเห็นบทนี้แอดจึงนึกถึงเรื่อง ปิรามิดการเรียนรู้ (Learning Pyramid) ที่ถูกพัฒนาต่อยอดมาจากทฤษฎีของ Edgar Dale (1969)

 

ปิรามิดการเรียนรู้ (Learning Pyramid) คือ วิธีการเรียนรู้แต่ละวิธีได้รับประสิทธิภาพแต่ต่างกัน

ปิรามิดการเรียนรู้

  • Lecture การเรียนรู้แบบนั่งเรียน ฟังบรรยาย พบว่าผลที่ได้รับ 5% การเรียนแบบนี้มันสามารถถูกลืมในที่สุด หรือคุณไม่สามารถจดจำได้ทั้งหมด
  • Reading การอ่าน พบว่าผลที่ได้รับอยู่ประมาณ 10% มันทำให้คุณรู้ และเข้าใจตอนที่อ่าน แต่อย่างไรก็ตามถ้าไม่ทบทวนมันก็ไม่ต่อเนื่อง ลืมไปในที่สุด
  • Audio and Visual การเรียนรู้โดยการฟัง ดูวิดีทัศน์ การฟังเสียง ดูรูปภาพ หรือวีดีโอ ได้ผลมากขึ้นประมาณ 20% 
  • Demonstration การเรียนรู้โดยแสดงตัวอย่าง การสาธิตให้ดู ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพถึง 30% 
  • Discussion การเรียนรู้ด้วยการพูดคุย แบ่งปันความคิดเห็น ได้ผลมาถึง 50% เลยทีเดียว เช่นการเรียนเป็นกลุ่มมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในกลุ่ม
  • Practice doing การเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติ ทำจริง ทดลองทำ ได้ผลมาถึง 75% เกิดจากลองทำและได้เจอปัญหา เข้าใจขั้นตอนลงมือทำ เช่น การทดลองทำอาหาร เป็นต้น
  • Teach other การสอนผู้อื่น หลังจากที่ได้เรียนรู้ด้วยวิธีต่างๆ สามารถรวบรวม ประมวลความรู้ จัดทำบทเรียน หรือบทสรุปเพื่อถ่ายทอดให้ผู้อื่น การเรียนรู้ เช่นนี้ คุณได้ถึง 90% ซึ่งยากที่คุณจะลืม

 

ความรู้เหมือนดาบยิ่งใช้ยิ่งคม คำสอนนี้คมจริง การสอน การถ่ายทอด การแบ่งปันความรู้นั้นต้องทำการบ้านอย่างหนัก ผู้สอนต้องอ่านมากขึ้น ศึกษาข้อมูลมากขึ้น นำมารวบรวมให้เป็นหัวข้อ หาวิธีถ่ายทอดให้ผู้รับฟังเข้าใจ 

ผู้สอนเองก็จะได้ประโยชน์จากการแบ่งปันมากขึ้น ได้ความรู้ความชำนาญมากขึ้น ได้การแลกเปลี่ยนในมุมมองอื่นๆ มากขึ้น มีการต่อยอดจากการเรียนเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน 

 

ยังไม่จบแค่นี้ค่ะ…สไตล์ของบทความ EZY-HR 

ยกตัวอย่างลองหาวิธีพัฒนาทักษะความรู้พนักงานจากปิรามิด หากเรามีโครงการสนับสนุนให้พนักงานเป็น “วิทยากร” ในส่วนที่ตนชำนาญ มาลองคิดชื่อโครงการกัน เช่น 

โครงการ “Tutor Tume ติวเตอร์ ติวมี”

โครงการ “Knowledge Sharing แบ่งปันความรู้” 

โครงการ “Learn Ploen เรียนเพลิน” 

 

วัตถุประสงค์ 

สนับสนุนให้พนักงานในองค์กรแบ่งปันความรู้ความชำนาญที่ตนมีอยู่ให้กับเพื่อนร่วมงานภายในองค์กร 

 

ขั้นตอน

  1. เชิญชวนพนักงานเริ่มต้นจากกลุ่มเล็กๆ 15 – 30 คน ที่มีความสามารถ เช่น 
  • คนที่มีการต้อนรับลูกค้าโดดเด่นลูกค้าชมทุกคน 
  • พนักงานที่มีทักษะ Excel ทำงานได้รวดเร็ว สรุปรายงานได้ดี
  • พนักงานที่แต่งหน้าสวย หน้ามอง
  • พนักงานที่ถ่ายรูปเก่ง ถ่ายแล้วภาพชวนมอง เข้าใจสิ่งที่ต้องการสื่อ
  • มีความสามารถทางกราฟฟิค Adobe Illustrator, Photoshop หรือโปรแกรมสำเร็จรูปอื่นๆ

*อย่าจำกัดเลยค่ะ เปิดกว้างทางการเรียนรู้ ทุกอย่างมีประโยชน์ต่อการทำงานทั้งสิ้นหากรู้จักประยุกต์ใช้

*จัดคลาสที่พนักงานอยากเรียนสลับกับคลาสที่จำเป็นต้องเรียน

 

  1. พัฒนาพนักงานที่อาสาเป็นวิทยากร โดยเข้าเรียนหลักสูตร “Train The Trainner” และการเขียนหลักสูตรเตรียมการเรียนการสอน

 

  1. สนับสนุนให้มีการจัดอบรมหลักสูตรสั้นๆ 3 ชั่วโมง กับกลุ่มเล็กๆ ก่อน 10 – 12 คน

 

  1. เสนอกลยุทธ์หรือแรงจูงใจให้เกิดมีการเรียนการสอน 
  • การให้ค่าตอบแทนการจัดทำหลักสูตรให้กับพนักงานผู้สอน คิดเป็นชั่วโมงต่อครั้งค่ะ (เชื่อเถอะว่าเมื่อคำนวณออกมาแล้วเป็นงบประมาณที่ไม่แพงเลย เมื่อเปรียบเทียบกับการจ้างวิทยากรภายนอก) 
  • จัดพื้นที่ให้พนักงานได้แสดงความสามารถ
  • มีการสนับสนุนการจัดอบรมด้วยการทำประชาสัมพันธ์ เป็นพี่เลี้ยงช่วยดูแลตลอดหลักสูตร
  • เปิดหลักสูตรที่พนักงานอยากเรียนก่อน แอดเคยจัดหลักสูตรการแต่งหน้า โห..เต็มตั้งแต่วันแรกที่เปิดลงชื่อ
  • อย่างที่เคยบอกค่ะ เปิดกว้าง ลองรับฟังเสียงพนักงาน สอนในสิ่งที่พนักงานอยากเรียน เมื่อเกิดความรู้ความเข้าใจ ต่อไปเราเปิดหลักสูตร หรือโครงการอะไรก็จะได้รับความร่วมมือ

 

แอดมิดเขียนเสมอว่า เครื่องมือที่ดี คือ เครื่องมือที่คนใช้ ท่านสามารถนำทฤษฎีต้นแบบมาประยุกต์ใช้ หรือการผสมผสานเครื่องมือเครื่องใช้ให้เข้ากับองค์กร และพนักงานในองค์กร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
1. หนังสือปรัชญาการทำงานและการดำเนินชีวิต ของ ดร.เทียม โชควัฒนา
2. ปิรามิดแห่งการเรียนรู้ (The Learning Pyramid) เรียนยังไงให้ได้ผลมากที่สุด https://www.myquestionth.com/question/8709

 

โรคซึมเศร้า เริ่มเป็นที่รู้จักมาไม่นาน ยิ่งมาพูดถึงมากขึ้นจากข่าวการเสียชีวิตที่ได้ยินได้อ่านของดาราท่านหนึ่ง แอดมินเลยอยากหยิบยกมาเล่าให้ฟังกันว่าหากมีคนในองค์กรของท่านเป็นโรคซึมเศร้า คนในองค์กรควรทำอย่างไร เราในฐานะ HR จะทำอย่างไร

โรคซึมเศร้า เป็นโรคหนึ่งซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ เหมือนเช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคไต และไม่ว่าจะเป็นเพศ หญิง หรือชาย ช่วงอายุใดก็สามารถเกิดขึ้นได้ แต่สาเหตุนี้มักพบในกลุ่มคนที่พบเจอเหตุการณ์ที่กระทบต่อจิตใจ กระทบต่อความรู้สึกรุนแรง เช่น การผิดหวัง การสูญเสีย ความเครียดจากปัญหารุมเร้าซึ่งโรคนี้สามารถรักษาหายได้ด้วยการใช้ยา การรักษาทางจิตใจ หรือทั้งสองอย่างรวมกัน  

สาเหตุของโรคซึมเศร้า

  • สาเหตุจากพันธุกรรม ที่มากจากครอบครัวที่มีอาการเป็นโรคซึมเศร้า
  • สาเหตุจากสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ สภาพจิตใจที่เจอสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ ทำให้ส่งผลกระทบต่อระบบความคิด เช่น มองสิ่งต่างๆในแง่ลบ เกิดความรู้สึกผิดหวัง เกิดอาการกังวลสภาพจิตใจรู้สึกแย่ หดหู่
  • สาเหตุจากการเจอสถานการณ์ต่างๆ ที่ทำให้กระทบจิตใจ ทำให้ส่งผลต่อสภาพจิตใจ เช่น การสูญเสีย การผิดหวัง เจอเรื่องเครียดตลอดเวลา

อาการของโรคซึมเศร้า

  • รู้สึกหงุดหงิดง่าย กังวลไม่สบายใจ
  • เก็บตัว แยกออกจากสังคมรอบข้าง
  • เศร้า หม่นหมอง ท้อแท้ สิ้นหวัง หมดกำลังใจ
  • ไม่มีสมาธิในการทำงาน ความสามารถแยกแยะไม่มี การตัดสินใจลดน้อยลง
  • การเบื่ออาหาร ทานอาหารลดน้อยลง
  • ซึมเศร้าเป็นทุกข์ รู้สึกเครียดตลอดเวลา
  • มีอาการนอนไม่หลับ นอนน้อยลงหรือนอนมากขึ้นเกินไป
  • มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย หรือพยายามฆ่าตัวตาย

การรักษาโรคซึมเศร้า

  • รักษาทางจิตใจ อาจจะเป็นการพบจิตแพทย์การพูดคุย ให้จิตแพทย์หาสาเหตุอาการที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าของแต่ละบุคคล ให้จิตแพทย์สังเกตทางพฤติกรรมแล้วทำให้ผู้ป่วย และคนรอบข้างได้เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหารักษาอาการของโรคซึมเศร้ากันต่อไป
  • รักษาทางยา ทางแพทย์เมื่อวิเคราะห์อาการของผู้ป่วยจนแน่ชัดแล้วจะมีการจ่ายยาให้ผู้ป่วยบางกลุ่มขึ้นอยู่กับกรณีไป

การปฏิบัติต่อพนักงานที่เป็นโรคซึมเศร้า

  1. HR ควรเก็บเป็นความลับ สิ่งนี้เป็นสิ่งแรกที่ควรทำอย่างยิ่ง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการปฏิบัติจากเพื่อนร่วมงานเช่นปกติ
  2. แจ้งหัวหน้างาน ให้คำแนะนำหัวหน้างานว่า….
  • โรคซึมเศร้าเป็นโรคชนิดหนึ่งที่สามารถรักษาได้
  • ปฏิบัติกับพนักงานดังเช่นปกติ พยายามจัดสมดุลการดูแลน้องในทีมให้เท่าเทียมกัน
  • ฝึกฝนการให้ Feedback ต่อผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้า
  1. แนะนำกฎระเบียบที่พนักงานสามารถใช้สิทธิ์ได้
  • โรคซึมเศร้าเป็นโรคชนิดหนึ่ง สามารถใช้สิทธิ์การลาป่วยตามกฎระเบียบบริษัท เช่น ลาป่วยได้ 30 วันต่อปี, ลาหยุดตามใบนัดแพทย์ เป็นต้น
  1. สร้างบรรยากาศการทำงานที่ดียิ้มแย้มให้กัน ช่วยสนับสนุนซึ่งกันและกัน
  2. สุดท้ายตรวจติดตาม (Monitoring) ถามไถ่เป็นระยะถึงการรักษาผลทางการแพทย์เพื่อทราบสถานการณ์ แต่ไม่ให้บ่อยจนเกินไป และให้กำลังใจพนักงานเสมอ
  3. ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า 

คำพูดที่ควรใช้กับคนซึมเศร้าในที่ทำงาน

  • อยากคุยกับผมไหม หรือมีอะไรปรึกษาได้เสมอนะ (หัวหน้างาน)
  • คุณเป็นสมาชิกในทีมของเรานะ
  • (หัวหน้างาน) ติดขัดอะไรเข้ามาคุยกับผมได้ตลอดเวลา ผมยินดี support งานทุกคนนะ
  • คุณช่วยงานผมได้เยอะเลย
  • อาจไม่เข้าใจ แต่จะเป็นกำลังใจให้นะ

คำพูดที่ไม่ควร

  • ลืมๆ มันไปซะเถอะ
  • ไม่อยากรู้สึกแบบนี้ ก็เลิกคิดสิ
  • ไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยวก็ผ่านไป
  • จะเศร้าไปถึงไหนกัน
  • เข้าใจว่ารู้สึกอย่างไร ฉันก็เคยเป็น
  • เลิกเศร้าได้แล้ว

ผู้ป่วยที่อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ดูแลตนเอง และปฏิบัติตามแพทย์อย่างเคร่งครัดก็จะสามารถหายได้ และดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ การให้โอกาสเป็นสิ่งสำคัญที่เราควรส่งเสริมภายในองค์กรให้เป็นองค์กรที่น่าอยู่ช่วยกันนะคะ EZY-HR เป็นกำลังใจให้เสมอ

แบบทดสอบภาวะซึมเศร้า PHQ-9 จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ขอขอบคุณ

https://www.lovecarestation.com/ประโยคที่ควรไม่ควร-พูดกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า/

 

 

คลอดมาอย่างเป็นทางการแล้วสำหรับ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงงาน (ฉบับที่ 7)  พ.ศ. 2562 บังคับใช้ 5 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา วันนี้ผู้เขียนสรุปสาระสำคัญของ พ.ร.บ ฉบับมาให้เพื่อนๆ ชาว HR เข้าใจอย่างง่ายๆ ดังนี้

 

1. อัตราดอกเบี้ยกรณีผิดนัดชำระ

หากนายจ้างผิดนัดจ่ายเงินตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ ต้องเสียดอกเบี้ยอัตรา 15% ต่อปี เช่นในกรณี

  • กรณีที่นายจ้างไม่คืนหลักประกันที่เป็นเงิน
  • ไม่จ่ายเงินกรณีนายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า หรือไม่จ่ายค่าจ้าง
  • ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด และเงินที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายตามพระราชบัญญัตินี้

ภายในเวลาที่กำหนด

  • ไม่จ่ายเงินกรณีนายจ้างหยุดกิจการ หรือค่าชดเชย ค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือค่าชดเชยพิเศษ

 

2. การเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้าง

กรณีนายจ้างมีการเปลี่ยนตัว เปลี่ยนนิติบุคคล จะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง และให้สิทธิต่างๆ ที่ลูกจ้างมีอยู่ต่อนายจ้างเดิมคงมีสิทธิต่อไป โดยนายจ้างใหม่ต้องรับไปทั้งสิทธิ และหน้าที่อันเกี่ยวกับลูกจ้างนั้นทุกประการ

 

3. ลากิจธุระที่จำเป็น

ลูกจ้างมีสิทธิลากิจได้ อย่างน้อย 3 วัน และนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันที่ลา

 

4. ลาเพื่อคลอดบุตร

ลูกจ้างหญิงมีครรภ์มีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตรครรภ์หนึ่งไม่เกิน 98 วัน  โดยให้รวมถึงวันลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตร แต่ให้นับรวมวันหยุดที่มีในระหว่างวันลาด้วย และนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างในวันลาเพื่อคลอดบุตรเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 45 วัน

 

5. ห้ามเลือกปฎิบัติในการจ่ายค่าจ้าง

นายจ้างต้องกำหนดค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างที่ทำงานอันมีลักษณะ คุณภาพ และปริมาณเท่ากัน หรืองานที่มีค่าเท่าเทียมกันในอัตราเท่ากันไม่ว่าลูกจ้างนั้นจะเป็นชายหรือหญิง

 

6. สินจ้าง(ค่าจ้าง) แทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

กรณีที่นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าให้นายจ้างจ่ายเงินให้ลูกจ้างเป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างที่ลูกจ้างควรจะได้รับ นับแต่วันที่ให้ลูกจ้างออกจากงานจนถึงวันที่เลิกสัญญาจ้างมีผล โดยให้จ่ายในวันที่ให้ลูกจ้างออกจากงาน

 

 7. กำหนดการจ่ายค่าตอบแทนให้ถูกต้องและตามกำหนดเวลา

ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุดและเงินที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายให้ถูกต้องและตามกำหนดเวลา ดังต่อไปนี้

  • ในกรณีที่มีการคำนวณค่าจ้างเป็นรายเดือน รายวัน รายชั่วโมง หรือเป็นระยะเวลาอย่างอื่น ที่ไม่เกินหนึ่งเดือน หรือตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย ให้จ่ายเดือนหนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งครั้ง เว้นแต่จะมีการตกลงกันเป็นอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้าง
  • ในกรณีที่มีการคำนวณค่าจ้าง นอกจาก ๑) ให้จ่ายตามกำหนดเวลาที่นายจ้าง และลูกจ้างตกลงกัน
  • ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด และเงินที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายให้จ่ายเดือนหนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งครั้ง

ในกรณีเลิกจ้าง ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด และเงินที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่าย  ตามที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ ให้แก่ลูกจ้างภายใน 3 วันนับแต่วันที่เลิกจ้าง

 

8. เงินระหว่างหยุดกิจการชั่วคราว

ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน เป็นการชั่วคราวด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้าง จนทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัย ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน

 

9. อัตราค่าชดเชย

ปรับค่าชดเชยใหม่…เป็น 6 อัตรา

11

10. เงินชดเชยพิเศษเนื่องจากย้ายสถานประกอบการ

  • นายจ้างซึ่งประสงค์จะย้ายสถานประกอบกิจการแห่งหนึ่งแห่งใด ไปตั้ง ณ สถานที่ใหม่ หรือย้ายไปยังสถานที่อื่นของนายจ้าง ให้ “นายจ้างปิดประกาศ” แจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าโดยให้ปิดประกาศไว้ในที่เปิดเผย ณ สถานประกอบกิจการนั้นตั้งอยู่ที่ลูกจ้างสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนติดต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 วันก่อนวันย้ายสถานประกอบกิจการ และประกาศนั้นอย่างน้อยต้องมีข้อความชัดเจนเพียงพอที่จะเข้าใจได้ว่าลูกจ้างคนใดจะต้องถูกย้ายไปสถานที่ใดและเมื่อใด
  • หากลูกจ้างคนใดเห็นว่าการย้ายสถานประกอบกิจการดังกล่าวมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัวของลูกจ้างคนนั้น และไม่ประสงค์จะไปทำงาน ณ สถานประกอบกิจการแห่งใหม่ต้องแจ้งให้นายจ้างทราบเป็นหนังสือภายใน 30 วันนับแต่วันที่ปิดประกาศ หรือนับแต่วันที่ย้าย
  • นายจ้างจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวให้แก่ลูกจ้างภายใน 7 วันนับแต่วันที่สัญญาจ้างสิ้นสุด
  • ในกรณีที่นายจ้างไม่เห็นด้วยกับเหตุผลของลูกจ้าง ให้นายจ้างยื่นคำร้อง ต่อคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือ

11. การยกเลิกหนังสือเตือนกรณีนายจ้างไม่ยื่นแบบแสดงสภาพการจ้างและสภาพการทำงาน

นายจ้างผู้ใดไม่ยื่นหรือไม่แจ้งแบบแสดงสภาพการจ้างและสภาพการทำงาน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท

 

ช่วงนี้ต้องรีบ update กฎหมายแรงงานใหม่ๆ จะได้ไม่ผิดพลาดกัน และอาจจะต้องปรับปรังปรุงกฎระเบียนข้อบังคับองค์กร เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายแรงงานฉบับใหม่ด้วยนะคะ EZY-HR ขอเป็นกำลังใจให้เพื่อน HR ทุกคน ปรับปรุงพัฒนางานของเรากันต่อไป

ขอขอบคุณค่ะ

HR มือใหม่อาจจะยังงงๆ กับกฎหมายแรงงานอันมากมาย ว่าควรเริ่มตรงไหนก่อนหลังดี ไม่รู้ก็ไม่ได้อีก

มาค่ะ…มาดูกันว่า HR มือใหม่ ควรรู้อะไรบ้าง

 

1. สัญญาการจ้างงาน หรือ สัญญาว่าจ้าง

คือ สัญญา ข้อตกลงกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ซึ่งอาจตกลงกันด้วยวาจา หรือเป็นลายลักษณ์อักษร ที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับ “จะถือว่าเป็นสัญญาว่าจ้างแล้ว” และเมื่อใดที่ลูกจ้างทำงานให้กับนายจ้างแล้วก็จะถือว่าสัญญาเป็นอันสมบูรณ์ ดังนั้น…เพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นภายหลังจึงควรทำข้อตกลงให้เป็นหนังสือสัญญาจ้าง

***เนื้อหาในสัญญาจ้างจะต้องไม่ขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงานมิเช่นนั้นจะถือว่าสัญญาเป็นโมฆะ

 

2. การกำหนดวัน เวลา ทำงาน และเวลาพัก

ตามกฎหมายแรงงานกำหนดชั่วโมงการทำงานแตกต่างกันตามประเภทของธุรกิจโดย

  • งานด้านพาณิชกรรมหรืองานอื่นทั่วไป ทำงานไม่เกินวันละ 9 ชั่วโมง แต่สัปดาห์หนึ่งไม่เกิน 48 ชั่วโมง
  • งานอุตสาหกรรม สัปดาห์หนึ่งไม่เกิน 48 ชั่วโมง
  • งานขนส่งไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง
  • ต้องให้ลูกจ้างมีเวลาพักระหว่างการทำงานวันหนึ่งไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง หลังจากลูกจ้างทำงานมาแล้วไม่เกิน 5 ชั่วโมงติดต่อกัน

3. กำหนดวันหยุด

วันหยุดประจำสัปดาห์ ต้องจัดให้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 วัน โดยมีระยะห่างกันไม่เกิน 6 วันทำงาน หรือเข้าใจง่ายๆ ทำงาน 6 วันต้องหยุด 1 วัน จะสะสมหรือเลื่อนไม่ได้

***เว้นแต่ธุรกิจโรงแรม งานขนส่ง หรืองานอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าสะสมวันหยุดประจำสัปดาห์ หรือเลื่อนไปหยุดเมื่อใดก็ได้ แต่ต้องอยู่ในระยะเวลา 4 สัปดาห์ติดต่อกัน

วันหยุดตามประเพณี

– ต้องประกาศวันหยุดตามประเพณีให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าปีหนึ่ง

– ให้มีไม่น้อยกว่า 13 วัน โดยรวมวันแรงงานแห่งชาติ

ทั้งนี้พิจารณาจากวันหยุดราชการ วันหยุดทางศาสนา หรือตามขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น และถ้าหากวันหยุดตามประเพณีวันใดตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ของลูกจ้าง ต้องให้ลูกจ้างได้หยุดชดเชยในวันทำงานถัดไป

 ข้อควรระวัง

  • กรณีนายจ้างประกาศวันหยุดตามประเพณีไม่ถูกต้องตามกฎหมาย มีความผิดและมีโทษทางอาญาตามมาตรา 146 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
  • กรณีที่นายจ้างไม่จัดให้ลูกจ้างหยุดตามประเพณี ต้องจ่ายค่าจ้างทำงานในวันหยุด หรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามกฎหมายมาตรา 46 ให้แก่ลูกจ้างด้วย

วันหยุดพักผ่อนประจำ เมื่อลูกจ้างทำงานครบ 1 ปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี (พักร้อน) ไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน

  • ต้องแจ้งจำนวนวันหยุดพักร้อนให้ลูกจ้างทราบ
  • การทำข้อตกลงการสะสม และเลื่อนวันพักร้อน (กรณีที่ใช้ในปีนั้นไม่หมด) ไปรวมกับปีถัดไป
  • นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างวันพักร้อนที่เหลือ (คำนวณตามจำนวนวันทำงาน) ในวันที่ลูกจ้างลาออก หรือถูกเลิกจ้าง

 

4. กำหนดหลักการลาของลูกจ้าง

วันลาป่วย

  • มีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง และมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันลาป่วยปีหนึ่งไม่เกิน 30 วัน
  • สามารถกำหนดให้ลูกจ้างที่ลาป่วย 3 วันทำงานขึ้นไป แสดงใบรับรองแพทย์ (หากลูกจ้างไม่ยอมแสดง ถือว่าเป็นการผิดวินัยฐานลาผิดระเบียบ)

ลาทำหมัน ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อการทำหมัน ตามระยะเวลาที่แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งกำหนด ออกใบรับรอง โดยไม่กำหนดว่ากี่ครั้ง โดยจ่ายค่าจ้างเสมือนลูกจ้างมาทำงานปกติ

ลาตั้งครรภ์ 

  • ลูกจ้างหญิงมีครรภ์มีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตรครรภ์หนึ่งไม่เกิน 98 วัน โดยรวมถึงวันลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตร แต่ให้นับรวมวันหยุดที่มีในระหว่างวันลาด้วย
  • ต้องจ่ายค่าจ้างในวันลาเพื่อคลอดบุตรเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 45 วัน

ลากิจธุระอันจำเป็น  ลูกจ้างสามารถลากิจ เพื่อกิจธุระอันจำเป็น อย่างน้อย 3 วัน โดยได้รับค่าจ้างตามปกติ

ลาเพื่อรับราชการทหาร ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อรับราชการทหารตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหารไม่เกินปีละ 60 วัน โดยได้รับค่าจ้างตามปกติ

ลาเพื่อฝึกอบรม ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อฝึกอบรมหรือพัฒนาความรู้ความสามารถ ตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงกำหนดทำได้ โดยการจ่ายค่าจ้างจะเป็นไปตามเงื่อนไขที่บริษัทกำหนด

 

5. การทำงานล่วงเวลา และค่าทำงานล่วงเวลา

ค่าล่วงเวลา คือ การทำงานตั้งแต่เวลาเลิกงาน (เวลาหลังเลิกงานที่แต่ละบริษัทกำหนด) จะได้รับค่าจ้างจำนวน 1.5 เท่าของค่าจ้างเป็นรายชั่วโมง

ค่าทำงานในวันหยุด คือ ลูกจ้างที่ทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ 0-8 ชั่วโมงแรก (ไม่รวมเวลาพัก 1 ชั่วโมง) จะได้รับค่าจ้างจำนวน 1 เท่าของค่าจ้างเป็นรายชั่วโมง

ค่าล่วงเวลาในวันหยุด  คือ ลูกจ้างที่ทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่ชั่วโมงที่ 9 เป็นต้นไป (ไม่รวมเวลาพัก 1 ชั่วโมง) จะได้รับค่าจ้างจำนวน 3 เท่าของค่าจ้างเป็นรายชั่วโมง

 

 6. กำหนดการจ่ายค่าตอบแทน

นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด และเงินประโยชน์อื่นๆ เนื่องจาก การจ้าง เป็นเงินตราไทย ต้องกำหนดวันที่จ่าย และวิธีการจ่ายให้ชัดเจน

***อัตราการจ้างงานขั้นต่ำในแต่ละพื้น สิ่งที่ต้องทราบ คือ นายจ้างไม่สามารถจ่ายค่าจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กำหนดไว้ได้โดยเด็ดขาด ยกเว้น ลูกจ้างอยู่ในช่วงทดลองงาน แต่ต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบถึงอัตราค่าจ้างในระหว่างทดลองนี้เป็นลายลักษณ์อักษรด้วย

 

7. สิทธิในการได้รับการคุ้มครองแรงงาน

สิทธิพื้นฐานที่กระทรวงแรงงานระบุไว้ หากนายจ้างทำละเมิดสัญญาจ้างงานหรือขัดกับกฎหมาย รัฐสามารถแทรกแซงเอกชนเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ลูกจ้างได้

 

8. กองทุนเงินทดแทน

กำหนดให้นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนเงินทดแทน ที่ดูแลโดยสำนักงานประกันสังคม กระทรวงเพื่อคุ้มครองกรณี ลูกจ้างประสบอันตราย เจ็บป่วย เสียชีวิตหรือสูญหาย เนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง โดย…

  • นายจ้างจะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเป็นรายปีภายใน 31 มกราคมของทุกปี
  • ต้องรายงานค่าจ้างจริงของปีที่ผ่านมาภายในเดือนกุมภาพันธ์

*หากค่าจ้างที่ประมาณไว้น้อยกว่าก็จะเรียกเก็บเงินสมทบเพิ่ม เรียกว่า “เงินสมทบจากการรายงานค่าจ้าง” ภายในเดือนมีนาคม

*หากค่าจ้างที่ประมาณการสูงกว่าค่าจ้างจริงนายจ้างก็จะได้รับเงินสมทบส่วนที่จ่ายเกินคืนไป

  • อัตราเงินสมทบจะอยู่ระหว่าง 2% – 1.0% ของค่าจ้าง ขึ้นอยู่กับลักษณะความเสี่ยงภัยในการทำงานของแต่ละกิจการโดยค่าจ้างรายปีที่นำคำนวณสูงสุดอยู่ที่ 240,000 บาท
  • (หากค่าจ้างที่ประมาณไว้น้อยกว่าก็จะเรียกเก็บเงินสมทบเพิ่ม เรียกว่า “เงินสมทบจากการรายงานค่าจ้าง” ภายในเดือนมีนาคม  หากค่าจ้างที่ประมาณการสูงกว่าค่าจ้างจริงนายจ้างก็จะได้รับเงินสมทบส่วนที่จ่ายเกินคืนไปด้วยเช่นกัน  โดย โดยค่าจ้างรายปีที่คำนวณสูงสุดอยู่ที่ 240,000 บาท 

กองทุนเงินทดแทนจะคุ้มครองดูแลในกรณี ดังนี้

  1. ค่ารักษาพยาบาล กรณีลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน

– นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นไม่เกิน 50,000 บาท

– กรณีลูกจ้างเป็นผู้ป่วยในมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าบริการพยาบาล และค่าบริการทั่วไป ให้นายจ้างจ่ายค่าใช้จ่ายดังกล่าว เท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินวันละ 1,300 บาท

  1. ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ กรณีฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานภายหลังการประสบอันตราย ได้รับตามอัตรา ดังนี้

– ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานด้านอาชีพ โดยให้จ่ายได้เฉพาะที่เป็นการฝึกตามหลักสูตรที่หน่วยงานของสำนักงานประกันสังคมเป็นผู้ดำเนินการ ไม่เกิน 24,000 บาท

– ค่าใช้จ่ายในกระบวนการเวชศาสตร์ฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานด้านการแพทย์ โดยเป็นค่าใช้จ่ายทางกายภาพบำบัด ไม่เกินวันละ 200 บาท และค่าใช้จ่ายทางกิจกรรมบำบัด ไม่เกินวันละ 100 บาท แต่รวมแล้ว ไม่เกิน 24,000 บาท

– ค่าใช้จ่ายในกระบวนการบำบัดรักษาและการผ่าตัด เพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน ไม่เกิน 40,000 บาท หากมีความจำเป็นให้จ่ายเพิ่มได้อีกไม่เกิน 110,000 บาท โดยคณะกรรมการการแพทย์พิจารณา และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเห็นชอบ

– ค่าวัสดุและอุปกรณ์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู หน่วยละไม่เกินอัตราตามที่กระทรวงการคลังกำหนด แต่รวมแล้วไม่เกิน 160,000 บาท

  1. ค่าทำศพ

ผู้จัดการทำศพของลูกจ้างที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจากการทำงานจะได้รับค่าทำศพเป็นจำนวน 100 เท่าของอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำรายวันตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน

  1. ค่าทดแทน

เงินที่จ่ายให้ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิ์สำหรับการประสบอันตราย เจ็บป่วย เสียชีวิตหรือสูญหายของลูกจ้าง นอกเหนือจากสิทธิ์ได้รับค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานหรือค่าทำศพ โดยค่าทดแทนนี้ลูกจ้างจะได้รับเป็นรายเดือนทุกเดือน ในอัตราร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือนของลูกจ้างตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดดังนี้

  1. ค่าทดแทนกรณีไม่สามารถทำงานติดต่อกันเกิน 3 วันขึ้นไป ลูกจ้างได้รับเงินเป็นรายเดือนทุกเดือนในอัตราร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือน สูงสุดไม่เกิน 12,000 บาทต่อเดือน ตลอดระยะเวลาที่ไม่สามารถทำงานได้ แต่ไม่เกิน 1 ปี
  2. ค่าทดแทนกรณีสูญเสียอวัยวะบางส่วนของร่างกาย หลังสิ้นสุดการรักษาลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าทดแทนในร้อยละ 60  ของค่าจ้างรายเดือน เป็นระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี
  3. ค่าทดแทนกรณีทุพพลภาพ ลูกจ้างที่สูญเสียอวัยวะจนส่งผลให้ไม่สามารถทำงานได้ จะได้รับค่าทดแทนในร้อยละ 60  ของค่าจ้างรายเดือน เป็นระยะเวลา 15 ปี
  4. ค่าทดแทนกรณีตายหรือสูญหาย ผู้มีสิทธิตามกฎหมาย เช่น บิดา มารดา สามี ภรรยา บุตร ของลูกจ้างจะรับค่าทดแทนร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือนเป็นระยะเวลา 8 ปี

ทั้งหมดนี้ถือเป็นกฎหมายพื้นฐานที่ HR มือใหม่ควรรู้ เพราะส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการทำตามกฎระเบียบตามที่กฎหมายกำหนด และส่วนหนึ่งก็เพื่อเป็นหลักประกันให้ลูกจ้างทำงานได้อย่างมีความสุข

11

บีค่อน (Beacon) คืออะไร

เมื่อก่อนตอนที่ผู้เขียนยังทำบันทึกเวลา (Time Attendance) อยู่นั้น เดิมจะติดตั้งเครื่องสแกนนิ้ว สแกนหน้า บัตรตอก พนักงานบันทึกลายนิ้วมือ และดึงรายงานมาสรุป เพื่อจัดทำเงินเดือน แต่ปัญหาคือ หากต้องไปติดตั้งทุกสาขา ก็จะมีค่าใช้จ่ายไม่คุ้มกัน จึงหาเทคโนโลยีใหม่มาช่วย

Slider_home_beacon_beacon

บีค่อน (Beacon)  คอยตรวจจับส่งสัญญาณไปที่มือถือของพนักงาน เพื่อเช็คเวลาเข้า – ออกบริเวณพื้นที่ปฏิบัติงาน ความสามารถเด่นของบีคอนคือ การให้ข้อมูลตำแหน่งระยะใกล้ที่แม่นยำ เป็นอุปกรณ์ตัวเล็กๆ มีหลายสี ลักษณะคล้ายแมลงเต่าทอง ติดตั้งไม่ยุ่งยาก มีความทนทาน ที่สำคัญราคากันเอง

ขั้นตอนการทำงาน

  1. พนักงานเข้าสำนักงานไปที่ตำแหน่งบีค่อน
  2. เปิด Application บันทึก
  3. ถ่ายรูปผ่าน Application
  4. ข้อมูล check in – check out จะถูกส่งไปที่กรุ๊ปไลน์ทันที
  5. ข้อมูลจากแต่ละสาขาจะถูกรวบรวมเข้าไปที่ส่วนกลางโดยอัติโนมัติ เพื่อนำไปคำนวณเงินเดือนได้ทันที

 

บีค่อน กับธุรกิจบริการ

– ทำหน้าที่เป็นพนักงานต้อนรับ เช่น ถ้าลูกค้าเดินไปบริเวณที่ติดบีค่อน ลูกค้าจะได้รับข้อความ “ยินดีต้อนรับ” และข้อมูลร้าน เช่น โปรโมชั่น เมนูเด่นประจำสัปดาห์ เป็นต้น

– ใช้เป็นระบบนำทาง พื้นที่อาคาร พื้นที่ในร่ม พื้นที่จำกัด ซึ่ง GPS ทำได้แม่นยำไม่มากพอ

– ทำระบบบัตรคิว พวกที่ต้องต้อนรับลูกค้าจำนวนมาก

– ทำเป็นตัวปลดล๊อกจักรยานด้วยแอปมือถือ เป็นตัวติดตามไปเก็บจักรยาน

– เอาไว้ใช้ติดตามสัตว์เลี้ยง หรือสิ่งของสำคัญ เช่น พวงกุญแจ เป็นต้น

หากเพื่อนๆ สนใจ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมลองสอบถามเจ้าหน้าที่ของ EZY-HR ได้นะคะ ยินดีให้คำปรึกษาค่ะ